ผิวแพ้ง่าย vs ผิวระคายเคือง ความแตกต่างที่ต้องเข้าใจ
เมื่อผิวเกิดการระคายเคือง หรือแพ้สิ่งแปลกปลอม ก็มักจะเกิดอาการที่ใกล้เคียงกัน เช่น คัน แดง แสบ แห้ง และลอก
หลายคนจึงเข้าใจว่าตนเองเป็นคนผิวแพ้ง่าย แต่จริงๆ แล้วอาจยังไม่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นอาการ”แพ้”
ผิวแพ้ง่าย
ผิวแพ้ง่ายเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ เป็นมาแต่เกิด และเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เช่น นาย A อาจแพ้สารชนิดหนึ่งแต่นาย B อาจไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับสารนั้นเลย โดยทั่วไปอาการแพ้จะแสดงออกในลักษณะของหน้าที่แดงเป็นปื้นๆ ตลอดเวลา หรือผิวแห้งคันมาก ตกสะเก็ด บวม ผื่นขึ้น เป็นต้น มีข้อสังเกตเบื้องต้นคือหากคุณแพ้สารชนิดนั้น ไม่ว่าจะทาลงบนส่วนไหนของร่างกาย ผิวหนังก็จะแสดงอาการแพ้เหล่านี้เหมือนกันหมด
เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ Patch Test เพื่อตรวจสอบว่าแพ้สารชนิดใด และรักษาด้วยยาเมื่อมีอาการรุนแรง พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกสารเหล่านี้
ผิวระคายเคือง
ผิวระคายเคืองเป็นสภาพผิวบอบบางที่เกิดจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน เช่น มลภาวะ ความเครียด และสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงทำให้เกิดอาการระคายเคืองขึ้นได้
ความแตกต่างระหว่างผิวแพ้ง่ายกับผิวระคายเคือง
คือการระคายเคืองจะไม่แสดงอาการกับทุกส่วนของร่างกายเหมือนกับอาการแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์นั้นอาจทำให้ผิวหน้าของคุณระคายเคือง แต่เมื่อทาผิวกายแล้วไม่เกิดอาการใดๆ
อาการระคายเคืองนั้นสามารถควบคุมได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม รวมถึงบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน และมีส่วนช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันผิว ให้ผิวแข็งแรง ทนทานต่อทุกสภาวะ ประกอบกับทานอาหารที่มีประโยชน์ บริหารความเครียดด้วยการออกกำลังกาย เป็นต้น
80-90 % เป็นเพียงการระคายเคือง
10-20% เท่านั้น ที่เป็นการแพ้จริงๆ
เพราะฉะนั้น หากคุณมีอาการผื่นคัน แดง หรือสิวลุกลาม แนะนำให้กลับมาสังเกตตนเองก่อนว่าช่วงนั้นคุณมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผิวบอบบาง หรือระคายเคืองง่ายเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น ออกแดดบ่อย พักผ่อนน้อย ความเครียดสะสม หรือพบเจอมลภาวะและสารเคมีมากเกินปกติ ทดลองใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวตัวใหม่ๆ ที่อาจมีความเข้มข้นของส่วนผสมมากเป็นพิเศษ เป็นต้น
รวมสกินแคร์สำหรับผิวแพ้ง่าย
วิธีหลีกเลี่ยงการระคายเคืองผิว
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง: เช่น แอลกอฮอล์ ซิลิโคน พาราเบน น้ำมันแร่ กรดต่างๆ สีสังเคราะห์ และน้ำหอม เป็นต้น
- ทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้: ทาผลิตภัณฑ์ที่ท้องแขนก่อนใช้ติดต่อกัน 7 วัน หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงสามารถใช้กับใบหน้าได้
- ดูส่วนผสมให้ชัดเจน: ผลิตภัณ์ฑบางชนิดแม้จะมีสารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพรต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าคุณจะไม่แพ้ จึงต้องดูส่วนประกอบให้รอบคอบทุกครั้ง เพราะอาจมีสารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองปะปนอยู่